รู้เข่าหลอก “อย่า” เต็มใจให้หลอก
แต่สำหรับเคสผู้ป่วยท่านนี้ คุณยายไม่ได้จะมาหลอก …. แต่หัวเข่ามันอยากจะสับขาหลอกหมอ ครับ 🙂
สวัสดีครับ …. วันนี้หมอสุนทร มีเคสมาเล่า เคสผู้ป่วย เป็นคุณยายท่านหนึ่ง อายุอานามก็ …. ยังละอ่อนมากครับ …. ประมาณ 75 ปี 🙂 มีอาการ ข้อเข่าเสื่อม อย่างรุนแรง โดยมีลักษณะอย่างที่ปรากฎในภาพ คือ ขาเกออก …
หมอบางท่านจะเรียกว่ามีอาการแบบ “เข่าฉิ่ง”
บ้างก็เรียกให้เข้าใจกันง่ายๆ ตรงๆ เลย ว่า “ขาตัวเอ็กซ์” หรือ “ เข่าชน ” ครับ
เคสนี้ คุณยายมีอาการปวดข้อเข่ามากว่า 20 ปีแล้วครับ ขาทั้งสองข้างมีลักษณะ ค่อยๆ เกออก คุณยายมีอาการปวดมาตลอดเวลา ไม่ว่าจะลุกขึ้นยืน เวลาเดิน หรือทำกิจกรรมที่ต้องงอเข่า คุณยายจึงใช้ชีวิตอยู่กับบ้านเป็นหลัก คือแทบจะไม่ออกไปไหนเลย เพราะเดินเหินไม่ค่อยจะสะดวก เนื่องจากทุกครั้งที่เดิน ก็จะมีอาการปวดเข่ามากทุกครั้ง ครับ
หมอจึงได้ทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยการให้คุณยายยืนขึ้น จึงทำให้เห็นชัดว่าขาเกออก และหัวเข่าชนกัน ซึ่งการเห็นเพียงเท่านี้ เราจะยังไม่สามารถประเมินได้ทันทีนะครับ เพราะการที่ ขาเก และหัวเข่าชนกัน อาจจะเป็นลักษณะทางกายภาพที่หลอกตาเราได้ครับ !!!
โดยปกติแล้ว ก่อนที่จะทำการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ในเคสผู้ป่วยที่ยากมากๆ ในระดับเคสนี้ หมอจะต้องประเมินความผิดปกติของเส้นเอ็นอย่างเต็มรูปแบบ เพราะต้องวางแผนผ่าตัด อย่างละเอียดยิบครับ และจะให้ผู้ป่วย ยืนตรงลงน้ำหนัก ทำการถ่าย เอ็กซ์เรย์ แต่กรณีเคส ผู้ป่วยที่มีอาการของเข่าในลักษณะแบบนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้ครับ นั่นเป็นเพราะสาเหตุใดกันนะ ?
เนื่องจากการชนกันของข้อเข่า จึงส่งผลให้ความผิดรูปที่แท้จริงหายไป มุมเข่าที่เกออกก็น้อยกว่าความเป็นจริงครับ จึงทำให้หมอไม่สามารถสรุปได้ทันทีทันใด ตามที่ตาเห็น ดังนั้นเคสของคุณยายท่านนี้ หมอได้ทำการเอ็กซเรย์โดยใช้วิธีการพิเศษครับ เราเรียกว่า Stress View พูดง่ายๆ ไปดัดขาให้เกออกที่สุดเท่าที่ทำได้ และเอ็กซเรย์ครับ จึงจะทำให้เห็นความผิดรูปที่แท้จริง (สำหรับขาคุณยายมีมุมเกออกประมาณเกือบๆ 50 องศาครับ)
อีกวิธีที่ต้องใช้ร่วมกันเสมอ คือ หมอจะประเมินก่อนจะลงมีดผ่าตัดครับ คือ วิธีการตรวจประเมินหลังจากผู้ป่วยได้ดมยาสลบ หรือบล็อกหลังเสร็จแล้ว ซึ่ง ณ ขณะนั้น กล้ามเนื้อเส้นเอ็นทุกอย่างจะคลายตัวเต็มที่ และเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่เราจะสามารถประเมินได้ทันทีเลยว่า เส้นเอ็นเส้นไหนมีความตึงตัวหรือยืดตัวมากกว่าปกติ …
วิธีนี้จะช่วยหมอได้มากในขณะวางแผนการผ่าตัดครับว่า เราจะทำการไปผ่าตัดยืดเส้นเอ็นหนึ่ง ณ จุดไหน หรือทำเส้นเอ็นที่ยืดออกให้ตึงตัวมากกว่าเดิม
และการตรวจตอนนี้ หมอใช้ในการพิจารณาเพื่อเลือกเส้นทางในการผ่าตัดอย่างเหมาะสมที่สุดว่า
จะผ่าตัดเข่าด้านใน หรือ ด้านนอกของข้อเข่าครับ ( Surgical Approach )
สำหรับคุณยายท่านนี้ หมอได้ทำการผ่าตัดไปเกือบ 10 ปี แล้วครับ ซึ่งการผ่าตัดเรียบร้อยดี มีผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง คุณยายสามารถเดินได้ดี หมอได้ผ่าตัดด้วยการ เปลี่ยนข้อเข่าเทียม ทั้งสองข้างให้คุณยาย โดยแต่ละข้าง จะทิ้งระยะเวลาให้ห่างกันประมาณ 6 เดือน และในการผ่าตัดสำหรับกรณีขาทั้งสองข้างลักษณะเช่นนี้ หมอจะผ่าตัดทีละข้างนะครับ จะไม่ผ่าทั้งสองข้างพร้อมกัน …
*ผู้ป่วยบางเคส ถ้าฟื้นตัวเร็วมากๆ การผ่าตัดอีกข้าง อาจทิ้งระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 1 เดือน เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความฟิต ความแข็งแรงของคนไข้เป็นพื้นฐานครับ
ปัจจุบันนี้ คุณยายหายเป็นปกติ มีความสุขกับการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเดินไปวัดเองได้ เดินไปใส่บาตรด้วยตนเองได้ หรือจะไปลัลล้า เดินเล่นตลาด ก็สามารถทำได้ตามปกติ
ซึ่งจริงๆแล้ว คุณยายเอง ก็เป็นผู้ป่วยอีกท่านที่มีสุขภาพจิตที่ดีมากๆ นะครับ มีความสุขกับการใช้ชีวิต อารมณ์แจ่มใส จึงทำให้การฟื้นตัวของร่างกายหลังการผ่าตัดเต็มร้อย “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” คำพูดนี้เป็นจริงครับ พิสูจน์ได้จากคุณยายท่านนี้เลย
กำลังใจดี มีความเข้มแข็ง มองโลกเป็นบวก
และมีความสุขกับชีวิตในทุกวัน ….
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.