อาการปวดไหล่ และภาวะไหล่ติด ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน
ปัญหาอาการปวดไหล่ หรือมีภาวะไหล่ติด นับเป็นปัญหา ที่ต้องใช้เวลาในการรักษายาวนานที่สุด ซึ่งอาจจะต้องทั้งรักษาและฟื้นฟูร่างกายไปพร้อมๆ กัน รวมๆแล้ว อาจจะต้องใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี อยู่ที่ว่าความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละท่านเป็นมากน้อยแค่ไหนครับ
อาการปวดไหล่ หรือการมีภาวะไหล่ติด ไม่ได้พบเฉพาะบางกลุ่ม บางวัย แต่สามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยมีข้อสังเกตเรื่องอาการให้เราสามารถสันนิษฐานถึงภาวะไหล่ติดได้ดังนี้ครับ
1. ปวดบริเวณรอบๆ ข้อไหล่ เช่น ….
หากเรากดตรงบริเวณกระดูกข้อไหล่ จะมีอาการเจ็บ บางรายอาจปวดร้าวลงไปตามแนวแขนจนถึงข้อศอก หรือเกิดอาการปวดร้าวขึ้นต้นคอ อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากใช้แขนหนัก การใช้งานกล้ามเนื้อผิดท่าทางที่ควรเป็น หรือหลังจากมีอุบัติเหตุกระแทกบริเวณหัวไหล่หรือต้นแขน
2. ปวดไหล่ตอนกลางคืน หรือเมื่อมีอากาศเย็น ….
ปวดไหล่ตอนกลางคืน/ตอนรุ่งเช้า หรือเมื่อมีอากาศเย็น *หากมีอาการดังที่ว่านี้ หมอแนะนำให้คนไข้ควรไปตรวจ เอ็กซเรย์ข้อไหล่เพิ่มเติม เนื่องจากต้องวินิจฉัยแยกโรคจากกลุ่มอาการหินปูนเกาะที่ผิวข้อไหล่ โรคเนื้องอกกระดูก หรือโรคติดเชื้อในเนื้อกระดูก)
3 . ไหล่มีอาการบวม แดง ร้อน และมีไข้ ….
ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบอาการบวมแดง ร้อน มีไข้ หากมีอาการดังกล่าวนี้ต้องทำการวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะข้อไหล่ติดเชื้อ
4 . ยกแขนได้น้อยลง ….
หากเราไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ ยกแขนได้น้อยลง ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น เช่น หยิบของจากชั้นวางของเหนือศีรษะไม่ได้ ,นอนตะแคงทับไหล่ข้างนั้นๆ ไม่ได้ เป็นต้น
อาการในข้อที่ 4 นี้บ่งบอกว่ามีอาการปวดสะสมมาระยะหนึ่งแล้วนะครับ
เมื่อมีอาการปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่อยากขยับ ไม่อยากเคลื่อนไหวข้อไหล่ หรือแขนมากนัก เพราะไม่อยากมีอาการเจ็บปวด และสิ่งที่จะตามมา คือ ทำให้เกิด ภาวะไหล่ติด (Frozen Shoulder) ซึ่งจะยิ่งทำให้พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่น้อยลงมากกว่าเดิม และมีผลต่อการรักษา เพราะต้องใช้เวลายาวนานมากขึ้น
ภาวะนี้อาจใช้เวลาในการรักษาและฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และสาเหตุของโรคครับ
… นอกจากนั้น อาการปวดไหล่ หรือมีภาวะไหล่ติด เราจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ด้วยครับ เพราะโรคปวดไหล่ เป็นอาการหนึ่งของโรคอื่นๆ เช่น
– ข้อไหล่อักเสบ เส้นเอ็นหัวไหล่อักเสบ
– เส้นเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด
– ข้อไหล่เสื่อม
– โรคเนื้องอกในกระดูกข้อไหล่
– โรคติดเชื้อภายในกระดูกข้อไหล่
– โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท (โรคนี้จะปวดจากต้นคอร้าวลงมาไหล่ และอาจปวดร้าวต่อไปถึงปลายมือ)
– โรคเนื้องอกในช่องปอดส่วนบน (Pancoast tumour)
เมื่อเราวินิจฉัยแล้ว พบว่า เรามีอาการปวดไหล่ และมีภาวะไหล่ติด ขั้นตอนต่อไป คือ…
การรักษาตามอาการ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเฉียบพลัน (Acute Phase)
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง ในกรณีนี้ต้องลดการใช้งานทุกชนิด และอาจใช้ผ้าคล้องแขนช่วยประคองแขน ใช้การประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบ ทานยาแก้ปวดพาราเซ็ตตามอล หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งโดยปกติการรักษาผู้ป่วยที่มาในระยะเฉียบพลันนี้ใช้เวลา 1-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากอาการปวดทุเลาลง แนะนำให้ผู้ป่วยพยายามเคลื่อนไหวข้อไหล่อย่างนุ่มนวล เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะข้อไหล่ติด
2. กลุ่มผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะเรื้อรัง (Chronic Phase) และข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีอาการปวดลดลง แต่จะไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ตามปกติ และจะปวดมากขึ้น หากฝืนใช้งาน การรักษาหลักๆ ตอนนี้คือ การทำกายภาพบำบัด พยายามบริหารเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และควรมีช่วงพักเพื่อลดภาวะการอักเสบที่เกิดจากการทำกายภาพเป็นระยะๆ ซึ่งช่วงเวลานี้จะใช้เวลานานหลายเดือน หรืออาจเป็นปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการผู้ป่วยเป็นสำคัญ
3. การฉีดยาเข้าข้อไหล่ โดยยาที่ใช้ฉีดมี 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่
- ฉีดยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ เฉพาะจุด เพื่อลดอาการอักเสบ ส่วนใหญ่ใช้ในระยะข้อไหล่อักเสบเฉียบพลัน
- ฉีดน้ำไขข้อเทียมเพื่อเพิ่มความหล่อลื่นในข้อไหล่ ลดแรงกระแทกภายในข้อ และอาจช่วยเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
4. การผ่าตัด ถือเป็นวิธีสุดท้ายในการรักษา
โดยมีวิธีการผ่าตัดที่หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง ล้างข้อไหล่ ร่วมกับการเย็บซ่อมแซมเส้นเอ็นภายในไหล่ที่ฉีกขาด การผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม ในกรณีข้อไหล่เสื่อมอย่างรุนแรง
สรุปกันแบบให้เข้าใจง่ายๆ ครับ
หมออยากแนะนำว่า หากคนไข้มีอาการปวดไหล่ ก็อย่าได้นิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะคนไข้อาจจะมีอาการปวดไหล่จากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำการวินิจฉัยโรค เพื่อทำการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสม และหากคนไข้ป่วยด้วยโรค “ภาวะปวดไหล่” จริงๆ ก็จะได้รับการรักษา ในช่วงเริ่มมีอาการนะครับ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจส่งผลและทำอาการของ “ภาวะไหล่ติด” เพิ่มมากขึ้น แลจะทำให้ระยะเวลาในการรักษา ใช้เวลายาวนานมากขึ้นอีกด้วย
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
ปัญหา “ปวดไหล่-ไหล่ติด” หนึ่งในโรคที่ใช้เวลารักษายาวนานที่สุดทางกระดูกและข้อ
เผยแพร่: 15 มี.ค. 2566 18:10 ปรับปรุง: 15 มี.ค. 2566 18:10
โดย: ผู้จัดการออนไลน์
You must be logged in to post a comment.