โรคนิ้วล็อค เพราะอยู่ไม่นิ่ง
อาการปวด โรคนิ้วล็อค
เพราะอยู่ไม่นิ่ง
วันนี้ หมอขอนำเสนอ เคสคนไข้ โรคนิ้วล็อค เป็นหญิงสาววัย 17 ขวบ (แต่จริงๆอายุตึงๆ ลองกลับเลขดูก็คือ 70 ปี นั่นเองครับ) คุณป้าท่านนี้มีอาชีพเป็นแม่บ้านและ อยู่ไม่นิ่งระดับเทพ !!!
ด้วยความจำเป็นของอาชีพ และหน้าที่การงาน คุณป้าจึงมักจะ ทำงานบ้าน สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็น ถูบ้าน , ปัดกวาดเช็ดถู ,ซักผ้า (ด้วยมือ) , ทำกับข้าว , ทำสวน จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง คนไข้เริ่มมี อาการปวด บริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ โดยรู้สึกปวดตึง และจะปวดมากขึ้น เมื่อเวลาเคลื่อนไหวและใช้งานนิ้วนั้นๆ โดยจะรู้สึกปวดตึง ฝืด จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
คนไข้ได้ทดลองรักษาด้วยวิธีของแพทย์พื้นบ้าน ทำการรักษาโดยการนวดน้ำมันหม่องหรือยาหม่อง และพยายามบีบนวดอยู่ตลอดเวลา แต่ อาการไม่ดีขึ้น ยังมีอาการเจ็บปวดจนทนไม่ไหว …คุณป้าจึงตัดสินใจมาพบ หมอสุนทร ครับ ….
เริ่มขั้นตอนการตรวจรักษา โรคนิ้วล็อค
หมอได้ทำการตรวจร่างกาย ตามขั้นตอนปกติ พบจุดกดเจ็บ บวมๆนิดๆ ตรงบริเวณใต้โคนนิ้วมือ ด้านฝ่ามือ ( เหนือเส้นลายมือขึ้นไปเล็กน้อยครับ) เมื่อทดลองให้ คนไข้ งอ และเหยียดนิ้ว ปรากฎว่าคนไข้มีอาการปวดในทันที …
จากนั้นหมอได้ทำการตรวจเพิ่มเติม โดยใช้ พลังอัลตร้าซาวน์ อัญมณี Infinity Stone 555 (อันนี้มั่วมาจาก หนัง The Avengers นะครับ ) เพื่อต้องการประเมิน เส้นเอ็น และ พื้นผิวกระดูกข้อต่อ ของคนไข้ (ชมภาพเพิ่มเติมได้ในคลิปอัลตร้าซาวด์ครับ)
จากการ อัลตร้าซาวน์ พบว่า
เป็นเคสที่สวยมากๆ เนื่องจาก ลักษณะของ เส้นเอ็น มีอาการบวมเล็กน้อย แต่ที่ชัดมากๆ คือ เกิดเป็นลักษณะ บวมเป็นถุงน้ำ ตรงบริเวณตัวผังผืดที่ล็อคเส้นเอ็น หรือทางการแพทย์เรียกว่า A1 -Pulley ซึ่งอาการเคสนี้เป็นเคสที่ชัดเจนมาก และสามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่าเป็น อาการ โรคนิ้วล็อค ระยะเริ่มต้น
อาการนิ้วล็อค คือ
มีการอักเสบของเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อผังผืด A1 – Pulley จากภาพอัลตร้าซาวด์จะเห็นลักษณะถุงน้ำสีดำๆ อยู่ข้างบนสุด ซึ่งด้านล่างเป็นเส้นเอ็น Flexor muscle group เป็นกลุ่มเส้นเอ็นหลักที่ใช้ ขณะที่เรากำมือครับ
หากสังเกตในขณะที่ ขยับ กำ เหยียด นิ้วมือเบาๆ จะเห็นได้ชัดว่า ยังสามารถเคลื่อนไหวได้ หากเคสไหนที่เป็นมากๆ หรือปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาการตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงไปนะครับ กล่าวคือ … ตัวผังผืด A1 -Pulley จะค่อยๆ สะสมการหนาตัว ขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อถึงระดับความหนาที่มากขึ้นจะทำให้เกิด การล็อคเส้นเอ็น อย่างเฉียบพลัน และเกิดภาวะ นิ้วล็อคแข็งค้าง หมอรับรองว่าถ้าเป็นระดับนี้แล้ว จะมีอาการเจ็บยกกำลังล้าน แน่นอนครับ !!!
เมื่อมีการ ล็อคของเส้นเอ็น ส่งผลให้นิ้วล็อคแข็งค้าง ซึ่งบ่อยครั้งจำเป็นต้องเอามืออีกข้างหนึ่งมาง้างออก และผู้ป่วยจะเจ็บมาก โรคนี้หมอเจอบ่อยมากครับ โดยเฉพาะในกลุ่มเคสที่เป็น ซุปเปอร์แม่บ้าน อยู่ไม่นิ่ง มือคัน ยิบๆๆ 555 เพราะซุปเปอร์แม่บ้าน ใช้งานมือ ค่อนข้างเยอะ ทำซ้ำซ้อน และมักมีการสะสมเป็นเวลานาน ทำให้ตัวผังผืด A1-Pulley อาจจะมีการอักเสบเรื้อรังเป็นแล้วเป็นอีก
โรคนิ้วล็อค รักษาอย่างไรดี ?
1 “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม”
ต้องเลิกเป็นซุปเปอร์แม่บ้าน ก่อนชั่วคราว คุณป้าไม่ใช่ Black Widow ในกลุ่ม Avengers นะครับ หรือ….. คุณป้าต้องหยุด เพื่อชาติ เอ้ย! ไม่ใช่ แต่ให้หยุดซนเพื่อนิ้วของคุณป้าเองครับ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็จะไม่จบสักที พักก่อน หมออยากให้ป้าพักก่อน….และอาจพิจารณา แช่น้ำอุ่น ตอนช่วงเช้าและก่อนนอน
2. รักษาโดยการทานยาแก้อักเสบ
ยาแก้อักเสบ ที่ ไม่ใช่ “สเตียรอยด์” ซึ่งให้ผล คือ ลดการอักเสบ , ลดอาการบวม และ ลดอาการปวด ในบริเวณดังกล่าว โดยแนะนำให้ทานระยะเวลาสั้นๆ เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว ให้หยุดทานได้เลยครับ หากติดตามผลของอาการหลังรับประทานยา สักระยะแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น…ให้เตรียมรับมือกับวิธีรักษา ด่านที่ 3 ….
3. การฉีดยาสเตียรอยด์ เฉพาะจุด
ฉีดยาสเตียรอยด์ เฉพาะจุด (Local Steroid Injection ) ซึ่งวิธีนี้เป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์ทั่วโลกนะครับ การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะจุด ไม่ใช่การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าเส้นเลือด หรือเข้ากล้ามเนื้อ หรือการทานยาสเตียรอยด์ ซึ่งอาจมีผลทางร่างกายมากกว่าการฉีดเฉพาะจุดแบบนี้
** ข้อควรทราบ คือ การฉีดสเตียรอยด์เฉพาะจุด ก็มีข้อจำกัด**
กล่าวคือ “ไม่ควรฉีดติดต่อกันในระยะเวลา 3-4 เดือน” ถ้าคิดง่ายๆ ควรฉีดเท่าที่ “จำเป็น” จริงๆ ครับ เพราะการฉีดแบบนี้ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะเนื้อเยื่อไขมันมีการเหี่ยวตัว ในทางการแพทย์เรียกว่า (Fat Atrophy ) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโอกาส ติดเชื้อในบริเวณนั้น แต่ตามตำราแพทย์ เจอน้อยมากๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วแพทย์กระดูกและข้อมักจะเตรียมพื้นที่ฉีด ด้วย Sterile Technique อย่างดี
โดยส่วนตัวแล้ว ในการรักษาของ หมอสุนทร หมอยังไม่เคยเจอเคสติดเชื้อหรือไขมันแห้งเหี่ยว…555 (ถ้าเหี่ยวจริงๆ เนื้อเยื่อไขมัน ในบางรายก็ฟื้นตัวมาเต่งตึงได้นะครับ อย่ากลัวเกินไป) หากอาการยังไม่ดีขึ้นอีกแม้ว่าจะฉีดสเตียรอยด์ไปแล้ว 2-3 ครั้ง (โดยแต่ละครั้งควรห่างอย่างน้อย 3-5 เดือนขึ้นไป) …. Let’s Go ไปด่านสุดท้ายครับ ….
4. ให้ทำการผ่าตัดเพื่อตัดผังผืด A1 -Pulley Release
การผ่า เพื่อตัดผังผืด ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นานครับ โดยประมาณไม่เกิน 5 นาที ฉีดยาชา ทำแป๊ปเดียว ซึ่งปัจจุบันมีการรักษาแบบ “เขี่ยพังผืด” ด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ ความถนัดของแพทย์แต่ละท่านครับ …
“สำหรับหมอสุนทร หมอเลือกใช้วิธีผ่าแบบปกติ เปิดแผลผ่าตัด ประมาณ 1 cm กว่าๆ เย็บแผล ประมาณ 2-4 เข็ม ไม่ทำแบบเขี่ยเลย เพราะต้องการเห็นพังผืดชัดๆ ตัดให้ตรงจุดและตัดได้หมดจริงๆ
สำหรับการใช้วิธีเขี่ย จะอาศัย Feeling ล้วนๆ ต้องเป็นหมอที่เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ และแบบเขี่ย ก็มีโอกาสที่จะตัดไม่หมด หมายความว่า “ไม่หาย” ครับ และหากตัดโดนเส้นประสาทด้านข้าง.. กรณีนี้จะทำให้เกิดอาการชาที่ปลายนิ้ว เพราะฉะนั้นแล้ว หากจะเขี่ย ต้องตามหาหมอที่มีทักษะ เชี่ยวชาญด้านนี้ครับ
สำหรับเคส สาว 17 ขวบ หรือคุณป้าวัย 70 จอมซนท่านนี้ โชคดีเหลือหลายครับ หลังจากทานยาและลดการใช้งานมือ อาการก็ดีขึ้นตามลำดับ ไม่จำเป็นต้องฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะจุด ก็บอกแล้วว่าป้าไม่ใช่ Avenger หยุดมือซนเพื่อชาติ … เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถึงกับลงมีดหมอแล้วครับผม
ด้วยความปรารถนาดีจาก
หมอสุนทรกระดูกและข้อ หาดใหญ่
หน่วยต่อต้านความซน ของซุปเปอร์แม่บ้าน 🙂
cr. ภาพจาก หนัง The Avengers
แชร์ ให้คนที่คุณรัก
นายแพทย์สุนทร ศรีสุวรรณ์ (เกียรตินิยม )
คลินิกหมอสุนทร กระดูกและข้อ อำเภอหาดใหญ่
You must be logged in to post a comment.